ขันหมากหมั้น และการแห่ขันหมาก



ขันหมากหมั้น ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ จะถูกจัดทำหลังจากที่ฝ่ายชายได้มีการทาบทามฝ่ายหญิงเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายจะต้องจัดทำขันหมากหมั้น เพื่อใส่สินสอดทองหมั้น และทำการแห่ขันหมากเพื่อทำ พิธีหมั้นฝ่ายหญิง

การจัดขันหมากหมั้นขันหมากหมั้น มี 2 ชุด รวมทั้งหมด 4 ขัน แบ่งออกเป็น ขันหมากหมั้น และ ขันของหมั้น การจัดขันหมาก นิยมจัดของหมั้นเป็นคู่ นอกจากนี้ยังมีต้นกล้วย ต้นอ้อย พานของไหว้ญาติผู้ใหญ่ ของไหว้ผี ดังนี้

1. ขันหมากหมั้น แบ่งเป็น
ขันหมากเอก คือ ขันหมากที่บรรจุหมากพลู ซึ่งคนโบราณมีไว้ใช้เคี้ยว และรับแขกเมื่อมาเยี่ยมเยียน มีไว้ในทุกบ้าน การจัดขันหมากอาจมีการจัดแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น บ้างจัดมี หมากดิบ 8 ผล ใบพลู 8 ใบ บ้างจัดเป็น หมากดิบ 16 ผล ใบพลู 16 ใบ มักจัดเป็นเลขคุ่ หมายถึง การอยู่เป็นคู่

ขันหมากโท คือ ขันหมากที่บรรจุ อาทิ ข้าวเปลือก ถั่ว งา ส่วน ใบเงิน ใบทอง ใบนาค หมายถึง ความมั่งคั่ง ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย หมายถึง การอยู่ครองรักครองเรือนด้วยกัน อย่างสุขสมบูรณ์

2. ขันของหมั้น แบ่งเป็น
ขันหมากเงิน คือ ขันที่บรรจุสินสอดของหมั้น ที่เป็นเงินสด ตามที่ฝ่ายชายได้ตกลงกับทางฝ่ายหญิงไว้เมื่อตอนไปคุยทาบทามสู่ขอ ฝ่ายเจ้าบ่าวมักจะใส่เงินเกินเล็กน้อย ตามความเชื่อว่า เงินงอกเงินเกิน เพื่อความสิริมงคล ที่เชื่อว่า ร่ำรวยเงินทอง ทำมาค้าขึ้น

ขันหมากทอง คือ ขันที่บรรจุสินสอดของหมั้น ที่เป็น ทอง สร้อย กำไล ต่างหูเพชร ต่างหูทอง แหวน และแหวนหมั้น


3. พานดอกไม้ ธูปเทียนใช้ธูปแพ เทียนแพ ส่วนดอกไม้นิยมใช้ดอกรัก และดอกบานไม่รู้โรย ใส่ในกระทงมีกรวยปิดตั้งไว้บนธูปแพ และเทียนแพ


4. ต้นกล้วย ต้นอ้อย
ต้นกล้วย 1 คู่ ต้นอ้อย 1 คู่ ที่ยังมีราก หน่อ ติดอยู่ เพื่อให้คู่บ่าว-สาว นำไปปลูกตามความเชื่อถือของโบราณ หากต้นกล้วย อ้อย ออกผลสมบูรณ์ เชื่อว่า มีความร่ำรวย มีความเป็นอยู่ที่ดี ครองรัก ครองเรือน มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง


5. พานผ้าไหว้พ่อแม่เจ้าสาว และญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาว
ไหว้ญาติผู้ใหญ่ผู้ชาย จัดเป็นผ้าขาวม้า หรือผ้าม่วงสำหรับนุ่ง
ไหว้ญาตผู้ใหญ่ผู้หญิง จัดเป็นผ้าแพรห่ม หรือ ผ้าไหม


6. จัดของสำหรับเซ่นไหว้ผี มักจะปักด้วยธงกระดาษสีแดงของไหว้จัดเตรียมไปพร้อมในขบวนแห่ขันหมาก มีดังนี้
ขนมต้ม 1 คู่
ขนมชั้น 1 คู่
ข้าวเหนียวถั่วงอก 1 คู่ (ข้าวเหนียวขาว ขูดมะพร้าวโรยหน้า)
ขนมนางเล็ด 1 คู่
ขนมฝักบัว 1 คู่
ข้าวเหนียวแดง 1 คู่
หัวหมู พร้อม หาง และ เล็บ 1 ชุด
ไก่ 1 ตัว
กล้วยน้ำว้า 4 หวี แบ่งเป็นถาดละ 2 หวี
เหล้าขาว 1 ขวด
พานหมาก พลู จีบ พร้อมยาสี 1 พาน
ผ้าขาวพับใส่พาน 1 พาน
นอกจากนี้อาจจะมีการจัด ขนม ผลไม้ อื่น ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ในแต่ละท้องถิ่นอาจจะแตกต่างกันออกไป
ตามประเพณีของการเคลื่อนขบวนขันหมาก มักจะถือตามฤกษ์ โดยจะมีการเตรียมตั้งขบวนขันหมาก ถือของที่จัดเตรียมไว้ ตั้งแถวรอ เมื่อถึงเวลาฤกษ์ ก็จะเริ่มเคลื่อนขบวน
ตามประเพณีปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ในขบวนแห่ขันหมากมักจะมีขบวนกลองยาว จุดประทัด โห่ร้องเสียงดัง มีการเต้น ร่าย รำ กันอย่างสนุกสนาน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ทางฝ่ายหญิงทราบว่า ขบวนขันหมากกำลังเคลื่อนมาทำพิธีสู่ขอ เมื่อฝ่ายหญิงได้ยินเสียง ก็จะพาเจ้าสาวหลบอยู่ในห้อง รอจนกว่าเจ้าบ่าวจะผ่านประตูเงิน ประตูทอง เข้าไปรับออกมา


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.thaiweddingideas.com
Custom Search