สิ่งสำคัญก่อนคิดแต่งงาน


ตกลงใจแต่งงานแล้ว ก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตหลังแต่งงานด้วย เช่น ความสัมพันธ์ในการเป็นเขยเป็นสะใภ้ แม้จะเป็นเรื่องภายหลังการแต่งงาน แต่ต้องให้ความสำคัญก่อนการแต่งงาน ดังนั้นมาดูกันสิ่งที่ต้องคิดก่อนแต่งงาน ในเบื้องต้นสัก 10 เรื่องก็พอ

1. พิธีรีตรองกับการเรียกร้องทางกฏหมาย เรื่องการแต่งงาน
ก่อนการแต่งงานมักมีการหมั้นหมาย ขันหมากต้องยกกันให้สินสอดเท่าไร ต้องมาแฉให้กระจ่างกลางงานพิธี จากนั้นอาจมีการดน้ำอวยพรหรือทำบุญประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อใจศาสนาของแต่ละฝ่าย การหมั้นทำให้เกิดความผูกพันกันทางกฎหมายแต่ไม่สามารถบังคับให้แต่งงานได้ ถ้าเบี้ยวขันหมากเมื่อไหร่ก็ยังสามารถเรียกร้องค่าทดแทนค่าเสียหายได้ และถ้าผู้หญิงเกิดนอกใจจนถึงขั้นเกิดความเสียหายก็กลายเป็นผิดสัญญาหมั้น เป็นอันถูกอีกฝ่ายบอกเลิกสัญญาได้

2. ทะเบียนสมรสจดหรือไม่จดดี
พิธีแต่งนั้นเป็นการแสดงตนทางพฤตินัย แต่ไม่ใช่การรับรองความเป็นสามีภรรยาทางกฎหมาย ต้องมีการจดทะเบียนสมรสไว้ให้ชัดเจน จดวันไหนก็ถือว่ามีสิทธิหน้าที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทะเบียนสมรสไม่จดก็ได้ แต่จะใ้ห้มีสิทธิเหมือนคู่ผัวตัวเมียที่จดทะเบียนไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่รับรองสถานะให้


3. เรือนหอรอรัก
แต่งแล้วจะไปอยู่ไหน พ่อแม่อีกฝ่ายจะให้ย้ายไปอยู่ในบริเวณเดียวกัน หรือจะร่วมหลังคากับพ่อตาแม่ยายหรือแม่ผัวพ่อผัวอย่างไร ถ้ามีเรือนรักเอาไว้รอก็เป็นเรื่องดีของคู่นั้นไป แต่บางรายต้องกู้เงินไปผ่อนบ้านหรืออาศัยพ่อแม่อยู่ต่อไป จะแยกเรือนออกมาต่างหากหรือไม่ ปัญหาว่าบ้านนี้ใครมีสิทธิแค่ไหนก็อาจกลายเป็นประเด็นถกเถียงกัน
การซื้อบ้านไว้เพื่อใช้เป็นเรือนหอ ต่อให้ซื้อด้วยเงินร่วมกัน ถ้าซื้อไว้ก่อนแต่งงานจะอนุมานเป็นสินสมรสได้ ก็ต้องอาศัยเอกสารหลักฐานเพื่อความชัดเจนในโฉนดที่ดิน ถ้าซื้อกันหลังแต่งก็จะถือว่ามีส่วนแบ่งคนละครึ่งในฐานะสินสมรส ถ้าพ่อแม่ยกที่ดินและบ้านให้ แต่ถ้าไม่ใส่ชื่อให้ครบก็จะจบลงตรงชื่อที่อยู่ในโฉนดคือเจ้าของโดด ๆ คนเดียว

4. เข้าใจคำว่า "เจ้าบ้าน กับ เจ้าของบ้าน"
หลังจากมีบ้านเป็นของตนเอง และเข้าใจกันแล้วว่า บ้านหลังนี้มีเราสองเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ทะเบียนบ้านนั้นกำหนดให้มีเจ้าบ้านเพียงคนเดียว ซึ่งการเป็นเจ้าบ้านไม่ได้แปลว่าคนนั้นเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเสมอไป เจ้าบ้านเป็นอะไรที่ต้องมีไว้เพื่อทำหน้าที่ดูแลทางทะเบียน จะย้ายใครเข้ามาย้ายใครออกไปมีคนในบ้านมากไปก็ไม่ได้ ต้องดูแลจัดการให้เรียบร้อย

5. นามสกุลของใคร
กฎหมายสามารถตกลงกันได้ว่า จะใช้นามสกุลของใครหลังจากที่ได้แต่งงาน กฎหมายก็ยังให้สิทธิคู่สมรสที่จะใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหากได้จดทะเบียนสมรสไม่ว่าจะเป็นเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวก็ตามที หรืออาจจะคงนามสกุลเดิมของตนไว้ไม่เปลี่ยนไปก็ได้เหมือนกัน จะเปลี่ยนนามสกุลกันหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวกับลูกที่จะเกิดมา เพราะกฎหมายยังกำหนดว่า ลูกมีสิทธิใช้นามสกุลของพ่อเหมือนกัน

6. รายได้หารสอง
ไม่ว่ากรณีใดๆ รายได้ต้องหารสอง

7. รายจ่ายในบ้านเรา
เมื่อรายได้อีกฝ่ายมีส่วนร่วม ก็ใช่ว่าเรื่องจ่ายจะเป็นภาระของคนที่มีรายได้มากกว่าเสมอไป ความสามารถในการรับผิดชอบอาจไม่เท่ากันได้ ก็ต้องชัดเจนในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เอาไว้ แม้หน้าที่ตามกฎหมายก็คือ ร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายของครอบครัว แต่ในชีวิตจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะแบ่งกันได้ชัดเจนทุกรายการ
แต่ถ้าถูกเรียกร้องจากคนนอกให้ต้องจ่ายอะไรที่เป็นเรื่องของครอบครัว เมื่อไหร่ ต่อให้เราไม่ได้สร้างหนี้เอาไว้ ก็ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ร่วมกับเขาไปในฐานะที่เป็นหนี้สินสมรส

8. ซื้ออะไรให้ใส่แต่ชื่อฉัน
เมื่อต้องถือกระเป๋าสตางค์ใบเดียวร่วมกันตามกฎหมาย เวลาซื้อหาอะไรมาได้ในระหว่างแต่งงานก็ต้องเป็นสินสมรสร่วมกัน ซึ่งไม่สำคัญว่าจะใส่ชื่อใครในเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของนั้น หรือจ่ายจากเงินเดือนของใคร เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการฉวยโอกาสที่ไม่ใส่ชื่ออีกฝ่ายร่วมไปในเอกสาร
การงุบงิบเงินจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของร่วมกันไปนั้น ทำให้เราสามารถเพิกถอนการจำหน่ายจ่ายโอนได้ แต่ก็อาจต้องไปเถียงกับคนที่ได้ทรัพย์สินนั้นไปว่า เข้าซื้อไว้โดยสุจริตใจไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นสินสมรสของคนที่ขายให้ ก็คงต้องเดือดร้อนไปเรียกร้องกันเองระหว่างสามีภรรยา การเตรียมการเรื่องการได้ทรัพย์สินมา ก็น่าจะทำไว้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้รั่วไหล

9. พ่อแม่ หรือญาติมาขออาศัย
หลังจากอยู่ร่วมเรียงเคียงหมอนกันไป ญาติมาเยี่ยมมาขออาศัยก็อาจสร้างความลำบากใจถ้าเขาไม่ยอมย้ายออกไปเสียที เราจะมีสิทธิในการขับไล่ญาติของเขาได้แค่ไหน เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจข้อกฎหมายแล้วเตรียมระวังเผื่อไว้ก่อนแต่งเป็นดี
เมื่อบ้านเป็นสินสมรส ต่างก็มีสิทธิที่จะให้ใครเข้ามาอยู่อาศัยได้ก็จริงอยู่ แต่ตามหลักของกฎหมาย การเข้ามาอยู่อาศัยนั้น เจ้าของจะทำได้ในขอบเขตที่ต้องไม่ทำให้เจ้าของร่วมอีกฝ่ายต้องได้รับความเดือนร้อนเกินควร การที่เขาหรือเราให้พ่อแม่มาอยู่อาศัย ถ้าเป็นเพราะท่านไม่มีที่จะไปเป็นหน้าที่ตามศีลธรรมที่อีกฝ่ายต้องยอมให้ทำได้ เพียงแต่คนที่มาอาศัยจะมีสิทธิมีเสียงใหญ่กว่าเราไม่ได้
เพราะไม่ใช่เจ้าของบ้านการสร้างสมดุลทางความสัมพันธ์จึงต้องอาศัยศิลปะด้วย

10. หนี้สินค้างจ่ายหรือรายได้ค้างรับ
เมื่อต้องเคลียร์เรื่องหนี้สินค้างจ่ายก่อนแต่งงาน ก็จงจำไว้ว่ากฎหมายไม่ให้มารบกวนส่วนของอีกฝ่าย
หนี้สินส่วนตัวก็เรียงร้องเอากับลูกหนี้ได้ ไม่กระจายมาถึงคู่สมรสของลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้เข้าก็มีสิทธิจะเรียกร้องเอากับสินสมรสได้ ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเงินทองเงินจ่าย เพียงแต่เจ้าหนี้เรียกได้ครึ่งหนึ่งของสินสมรสที่ฝ่ายลูกหนี้มีสิทธิเท่านั้น
ส่วนรายได้ เมื่อได้มาระหว่างแต่งงานก็ถือเป็นสินสมรสไม่ยกเว้นแม้กระทั่งดอกผลของสินส่วนตัว แม้จะออกดอกออกผลภายหลังการแต่งงาน


อย่าเพิ่งถอดใจที่ต้องเตรียมการเอาไว้ก่อนแต่ง คิดเสียว่าเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนเอาไว้ ส่วนไหนที่วางไม่ได้ก็ต้องเตรียมใจหรือจะทำใจว่าอาจมีความเสี่ยงของการได้เสีย แต่ทุกอย่างย่อมผ่านไปได้หากความรักที่มีให้กันอยู่บนรากฐานแห่งความเข้าใจ กฎหมายเป็นเพียงข้อมูลเพื่อให้การแต่งงานมีรากฐานที่แข็งแรงเท่านั้น


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://women.sanook.com

Custom Search