การเตรียมตัวในการขึ้นอวยพรคู่บ่าวสาว

หลักในการเตรียมตัวในการขึ้นอวยพรคู่บ่าวสาวนั้น แบ่งเป็นหลักๆดังนี้

1. การเตรียมตัว

ก่อนที่ท่านจะไปงานใดงานหนึ่งท่านจะต้องทราบล่วงหน้าก่อน ดังนั้นควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อที่จะนึกสรรหาถ้อยคำอวยพรที่เหมาะสมสำหรับงานนั้น ๆ และถ้าจะใช้ซักซ้อมทดลองพูดดูบ้างก็เป็นการดีอย่างที่สุด สิ่งจำเป็นในการเตรียมตัวนี้ก็เพื่อที่จะให้ผู้พูดเกิดความมั่นใจในตัวเอง สำหรับในกรณีที่ท่านได้รับการเชิญโดยกะทันหัน ให้ทำขั้นตอนดังนี้ คือ คำขึ้นต้น เนื้อเรื่อง และสรุปจบ
ก่อนขึ้นเวทีขณะที่ลุกจากโต๊ะออกไปสู่เวที พยายามนึกถึงประโยคที่จะพูดออกมาเป็นประโยคแรก เสร็จ แล้วค่อยนึกเนื้อเรื่องบนเวที ระหว่างที่พูดอยู่ก็พยายามหาสนามบินลงให้ได้ เมื่อพบแล้วก็สรุปจบเลย

2. กริยาท่าทาง

- เมื่อขึ้นไปอยู่บนเวที จงวางกิริยาท่าทางของคุณให้สง่าผ่าเผยแบบธรรมชาติ พูดออกมาด้วยความกระตือรือร้นชัดถ้อยชัดคำ ใช้การแสดงออกทางใบหน้าและมือทั้งสองข้างให้สมดุลกัน

- กิริยาท่าทางที่ถูกต้องดี จะเป็นเครื่องช่วยเสริมน้ำคำของเราให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นการช่วยให้ถ้อยคำที่เน้นลงหนักมีความสำคัญหนักแน่นน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น .

- จงใช้ท่าทางอันสุภาพอ่อนโยน เพื่อให้คำอวยพรของท่านที่ไพเราะเสนาะหู และผู้รับพรรวม ทั้งเขาจะได้จดจำคำอวยพรอันประทับใจของท่านอีกด้วย

- อย่าใช้กิริยาท่าทางที่ประหม่า เคอะเขินจะเป็นสาเหตุให้กิริยาท่าทางตลอดจนคำพูดของท่านหมดความประทับใจ

การวางตัวในขณะที่กล่าวคำอวยพร มีหลักใหญ่ ๆ อยู่ดังนี้

1. อย่าแสดง การใช้มือประกอบคำพูดด้วยเพียงข้างเดียว

2. อย่ายืนไปในท่าเอนหลังพิงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

3. อย่าใช้ผ้าเช็ดหน้าในขณะที่พูด

4. อย่าใส่กระดุมหรือปลดกระดุมในขณะพูด

5. กระเป๋าเสื้อไม่ควรมีสิ่งของบรรจุอยู่จนตุงเกินไป

6. ไม่ควรพับแขนเสื้อหรือปลดกระดุมแบะคอเสื้อ

7. จงหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่เกินความจริง

8. อย่าพูดซ้ำซากโดยไม่จำเป็น

9. ใช้คำอวยพรที่สุภาพ ภาษาตลาดและคำหยาบ อย่านำมาใช้

10. จงแสดงท่าทางเคลื่อนไหวเล็กน้อยเป็นครั้งคราวดีกว่า อย่าทำพร่ำเพรื่อ

11. อย่าทำกิริยายักไหล่

12. อย่าพยายามที่จะแสดงท่าทางขอโทษผู้ฟังอยู่เนือง ๆ

13. ต้องประสานตาผู้ฟังให้ทั่วถึงตลอดเวลา

14. ต้องตั้งตัวตรงอยู่เสมอ

15. มือทั้งสองข้างควรปล่อยอยู่ข้าง ๆ ในท่าสบาย ๆ

16. อย่าเอามือทั้งสองข้างไขว้หลัง

17. อย่ากุมมือทั้งสองไว้ข้างหน้า

18. อย่าเอามือยัดใส่กระเป๋าโดยไม่จำเป็น

19. หัดพูดให้เสียงดัง ชัดถ้อยชัดคำ ถ้าไม่มีไมโครโฟนจงพูดดังพอประมาณ

20. จงหลีกเลี่ยงการพูดอย่างเร็วปรื๋อ

21. จงโค้งตั้งแต่บั้นเอว ไม่ใช่โค้งเฉพาะคอ เมื่อเวลาโค้งกายให้ผู้ฟัง

3. ความรู้สึกของผู้ฟัง

บรรดาผู้ที่มาร่วมในงาน เมื่อท่านถูกเชิญให้ขึ้นพูด ต่างก็มีความต้องการที่จะฟังคำพูดของท่าน เขาต้องการได้ฟังถ้อยคำที่มีคุณค่าไพเราะหู ต้องการจะได้เห็นท่าทางที่เหมาะเจาะ และได้ฟังคำอวยพรอันซาบซึ้ง

4. การเริ่มต้นพูด

การเริ่มต้นพูดควรจะพูดด้วยเสียงราบเรียบปกติก่อน แต่อย่าลืมว่าจะต้องแสดงดวงหน้าของท่านให้แจ่มใส ตลอดเวลา แสดงกิริยาอัธยาศัยให้สุภาพ เริ่มด้วยความอ่อนโยน มีความเชื่อมั่น และจริงใจอย่างเต็มที่ เวลาพูดควรจะกวาดสายตาประสานกับผู้ฟังให้ทั่วบ้างเพราะการใช้สายตากวาดดูผู้ฟังนั้น เท่ากับเป็นเครื่องย้ำความมุ่งหมายของตนเอง บอกความปรารถนาแสดงความขอร้องของเราให้เป็นผลอย่างดีที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลดีรๆจาก www.keawjaiwedding.com
Custom Search